วารสาร วท.ก.

ภาพนี้คือวารสาร วท.ก. ฉบับ “น้องใหม่” เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๒ ซึ่งจัดทำโดย “ชุมนุมภาษาและวารสาร” วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ผมได้เป็นเจ้าของวารสารฉบับนี้…เมื่อตอนได้เข้าไปเป็น “น้องใหม่” เมื่อปี ๒๕๑๒ ผ่านมาจนเกือบจะครบ ๔๓ ปีแล้ว…ทุกวันนี้ ผมก็ยังคงเก็บรักษาวารสารฉบับ “น้องใหม่” ไว้ได้!

เมื่อเปิดเข้าไปยังหน้าแรก… ก็จะพบกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีใจความว่า…

การทำงานด้วยใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้นจะไม่มีใครรู้เห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่ค่อยมีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันจะปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองข้างหลังพระบ้างแล้ว พระจะงามบริบูรณ์ไม่ได้

เปิดไปอีกหน้า…พบข่าวกิจกรรมชุมนุมดังนี้

ในวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๑๒ นี้ เนื่องในพิธีวันไหว้ครูของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ทางคณะนักศึกษาได้จัดให้มีการไหว้ครูขึ้น หลังจากเสร็จพิธีแล้ว คณะกรรมการกลางอันประกอบด้วย ประธานนักศึกษา ประธานแผนก และประธานชุมนุมทุกชุมนุม ได้นำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้แก่อธิบดีกรมอาชีวศึกษา-นายพงศ์ศักดิ์ วรสุนทรโอสถ รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา-นายระบิล สีตะสุวรรณ หัวหน้ากองวิทยาลัยเทคนิค-คุณหญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ-นายสุรเดช วิเศษสุรการ จากนั้นทางคณะกรรมการได้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมงกุฎกษัตริยาราม องค์สมเด็จพระสังฆราชได้พระราชทานโอวาสให้แก่คณะกรรมการกลาง พอสรุปได้ดังนี้

“เราทุกคนเป็นศิษย์ ต่อไปต้องเป็นครู ต่อไปเป็นพ่อคน แม่คน และต้องไปมีลูก สอนลูก ทุกคนมีครู พ่อแม่เป็นครูคนแรก ฉะนั้นควรต้องเคารพ การเคารพพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ทำให้เกิดเมตตา ให้อภัยเมื่อผิดพลาด การเคารพกราบไหว้ เป็นมงคลสำคัญทำให้โลกเจริญ จึงเป็นประเพณีการไหว้ครูขึ้นจนถึงทุกวันนี้”

พุ่มดอกไม้ วันไหว้ครูวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ

ในเล่ม มีเรื่อง “ช่างภาพ” พิมพ์บนกระดาษอาร์ตจำนวน ๔ แผ่น ไม่มีบทความอะไรเลย…นอกจากภาพถ่ายจำนวน ๗ ภาพ ดังนี้…

“วูบวาย” – กายสิทธิ์

“เหงา” – สุทัศน์

“Twilight” – กายสิทธิ์

“ลอยเรือ” – สุทัศน์

“Portrait” – สุทัศน์

“เส้นนำชีวิต” – กายสิทธิ์

“แดนในฝัน” – กายสิทธิ์

ผมอยากนำบทความบางส่วนและรูปภาพมาลงให้เพื่อน ๆ ได้ดู เพราะคิดว่าวารสารเก่า ๆ เช่นนี้ อาจบอกเรื่องราวในอดีต ซึ่งหาดูไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน…

เพื่อน ๆ อย่าเพิ่งเซ็งนะครับ!