ประกาศ – หยุดโพสต์ใน wichai’s space

สวัสดีครับ!  หลังจากเขียนบล็อกใน Wichai’s space (ที่ ๆ ชายแก่คนหนึ่งจะเล่าเรื่องราวของชีวิตที่ผ่านมา เกี่ยวกับผู้คน การเดินทาง งานช่าง หนังสือ ภาพยนต์ ดนตรี และอื่น ๆ)  มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ จนถึงวันนี้… ผมนับแล้วรวมได้ ๒๐๑๗ เรื่องพอดี! 

โดยปกติแล้ว ในแต่ละหัวข้อผมจะโพสต์ไว้ใน ๒ บล็อก คือ Wichai’s Space (ใช้บริการของ wordpress.com) และ Exploring the world with an unusual Thai (ใช้บริการของ blogspot.com)  ต่อจากนี้ไปผมต้องขอโพสต์แค่ใน Blogger ซึ่งขับเคลื่อนโดย Google เพียงอย่างเดียวนะครับ

การยุติ wordpress ก็มิได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่ผมต้องการประหยัดเวลาในการอัพโหลดเท่านั้น จึงต้องกราบขออภัยเพื่อน ๆ ผู้ติดตามผมมาทางนี้ ต่อไปคงต้องรบกวนขอให้ตามไปที่ Exploring the world with an unusual Thai หรือคลิก ที่นี่ แล้วหละ…

ตามไปท่องโลกด้วยกันนะครับ!

วัดทางคบ จำปาสัก

จากสะพานข้ามห้วยสระหัว (1) ผมปั่นจักรยานไปตามเส้นทางสู่วัดพู ประมาณ ๓ กิโลเมตรก็ถึงทางแยก (3)  อาจารย์หมูบอกว่าทางแยกภาษาลาวเรียก “ทางคบ”

ตรงทางแยก ริมทางด้านขวามือมีวัดตั้งอยู่วัดหนึ่งชื่อว่า “วัดทางคบ” (Wat Thangkhop) หมายถึง วัดทางแยก

ซุ้มประตูเรียบง่ายเหมือนกับวัดอื่น ๆ ที่ผ่านมา…

จอดรถไว้ด้านนอก ผมเดินเข้าไปเก็บภาพภายในวัดอย่างเร่งรีบ…

ได้ภาพวิหารมาฝากเพื่อน ๆ

ด้านข้างวิหารกำลังก่อสร้างอาคารใหญ่ ใน google maps ก็มองเห็น คิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแล้วเสร็จ

ดูใน google maps ทางด้านทิศใต้น่าจะมีสิมตั้งอยู่ พอดีวันนี้มาด้วยกัน ๒ คน ผมไม่อยากอยู่นาน ต้องรีบปั่นไปวัดพู จึงเก็บภาพได้ไม่ครบถ้วน

วัดนี้ไม่มีภาพใบสีมามาให้ดูนะครับ!  

สะพานห้วยสระหัว จำปาสัก

จาก “ด้วยรักจำปาสัก” ปั่นจักรยานไปวัดพู ดูไม่ไกลเลย แค่ ๖ กิโลเมตรก็เข้าเขตเมืองโบราณ… 

ถึงบ้านพัฒนาวัดหลวงเก่า…

ต้องข้ามสะพานห้วยสระหัว*…

ไม่รู้เป็นไง ผมช่างมีความผูกพันอยู่กับสะพานลักษณะนี้เสียจริง ขัวเหล็กที่เชียงใหม่เคยเห็นตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เคยนั่งสามล้อวิ่งผ่านโครงเหล็กสีดำได้ยินเสียงติดหูมาถึงทุกวันนี้

และทุกครั้งที่เห็นภาพสะพานเช่นนี้ ใจผมก็จะประหวัดถึงภาพยนต์เรื่อง The Bridges of Madison County (1995)

สะพานสีเขียวข้ามห้วยสระหัวอาจจะไม่มีเรื่องราวโรแมนติกเหมือนของ Robert กับ Francesca แต่ก็เตือนให้ผมระลึกถึงวันเวลาแสนสุขในจำปาสัก…

มองเห็นแม่น้ำโขงอยู่ไม่ไกล…

จากสะพานนี้ อีกไม่ไกลก็ถึงวัดพูแล้ว…


*  ชื่อ “ห้วยสระหัว” ถ้าเป็นบ้านผมก็จะอ้างอิงว่าแต่ก่อนผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ได้ยกทัพมาหยุดพักแล้วลงสระหัวที่ลำห้วยแห่งนี้ แต่สำหรับที่เมืองเก่า จำปาสัก ผมมิอาจทราบได้ อาจารย์หมูผู้ช่วยอ่านชื่อป้ายให้บอกว่า “ห้วยสระหัว แปลว่าห้วยหนอง คลองบึง”หุหุ ผมจินตนาการไปไกลเกิน

วัดพันทะคาม จำปาสัก

“วัดพันทะคาม” เป็นวัดประจำหมู่บ้านพันทะคาม เมืองจำปาสัก จากถนนหลวงไปปากเซ (1) เข้าไปแค่เพียง ๔๐ เมตร…

๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๐  ๑๕.๔๓ น. ปั่นจักรยานเข้าไปถึงซุ้มประตูวัดพันทะคาม (2) ผมหยุดถ่ายภาพไว้ก่อน…

สวยแบบเรียบง่าย มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งด้านซ้ายขวา…

ขี่จักรยานถึงอุโบสถ (4) ผมเดินเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ

 

ข้าง ๆ มีวิหาร (5) อีกหลังนึง…

ห้องน้ำอยู่ทางโน้น…

กลับออกมาถ่ายภาพซุ้มประตูด้านหลังไว้อีก ๑ บาน…

สี่โมงเย็นแล้ว ไปปั่นชมทุ่งนาต่อดีฝ่า!

A Morning Ride – Champasak

จาก “วัดพะพิน” (1) ถ้าจะปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามถนนลูกรังเส้นเล็ก ๆ ไปยัง “วัดพันทะคาม” (2) ระยะทางก็ประมาณ ๗๕๐ เมตร

วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๘ โมงเช้า ตาแก่เมืองรถม้าปั่นจักรยานผ่านร้านน้ำปั่นของ ຝ້າຍ ສຸວັນນະສານ ที่ยังคงปิดอยู่…

ตรงไปยังโรงเรียนมัธยมจำปาสัก (3)…

เป็นคนชอบผจญภัย ผมพาเจ้า Banian เข้ารกเข้าพง (4) มีแค่เส้นทางเล็ก ๆ อยู่ข้างหน้าก็ไม่กลัวที่จะลุยไป…

ข้ามสะพาน (5) ผมเห็นถนนหลวงไปปากเซอยู่เบื้องหน้า…

เวรกรรมแท้เด้ ถึงปลายทางกลับมาอยู่บนแท่นสูง ผมต้องหิ้วจักรยานไต่ลงบันไดไม้ลงมาตั้งหลักข้างล่าง…

ตรงข้ามคือ Rice Fields Trail ที่จะพานักปั่นไปเที่ยวชมทุ่งนา…

มองเห็นเสาสัญญาณโทรศัพท์ มั่นใจได้ว่าจากจุดนี้ ผมสามารถโพสต์แบบ real time ลงบน facebook ได้เลย…

บนเส้นทางจำปาสัก-ปากเซระยะทาง ๓๒ กิโลเมตร ผมปั่นมาแล้วครับ แต่เช้านี้ขอแค่ขี่ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ เพื่อชมวิวสองข้างทาง

เก็บภาพร้านขายเครื่องจักสาน ก่อนข้ามสะพานห้วยพะพิน…

มีป้ายบอกว่าทางหน้ามีด่านเก็บเงิน ทะลุมาให้ผ่อนความไว แต่จักรยานอย่างผมคงไม่ต้องลดสปีด เพราะมันช้าอยู่แล้ว…

นั่นไง… ด่านอยู่ข้างหน้า

ผมขี่จักรยานไปไม่ไกล แค่ถึงโรงแรมวอป่าโคก

มีป้าย “อาหารราคาพิเศษ” จานละ ๒๐๐ บาทตั้งอยู่ริมทาง…

ความจริงค่าที่พักในช่วงลดราคา ผมดูใน booking.com ก็ไม่ได้แพงนัก เหมาะสำหรับเพื่อน ๆ ผู้ชอบที่พักดี ๆ บรรยากาศเงียบสงบริมฝั่งแม่น้ำโขง เค้ามีห้องพักสำหรับ ๒ คน ราคาคืนละ ๖๐๐ กว่าบาท

เก็บภาพความงามของท้องทุ่งมาฝากเพื่อน ๆ ด้วยหลายบาน…

แวะซื้อมันแกวกิน…

ขี่จักรยานเช้านี้เก็บภาพวัดได้ ๓ วัด พอแล้วครับ…กลับดีกว่า!

วัดพะพิน จำปาสัก

“วัดพะพิน” อยู่ไม่ไกลร้านซ่อมลดจักของช่างคำ (ความจริงซ่อมได้ทั้งลดถีบ งานเหล็ก และอื่น ๆ)  จากสี่แยก (2) ไปเข้าได้ทั้งประตูด้านทิศตะวันตก (3) และด้านทิศใต้ ( 6)

ซุ้มประตูด้านติดถนน (3) ทาสีสดสวย อยู่ตรงกับอุโบสถ (5)…

อุโบสถ (สิม) หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (แม่น้ำโขง)

ตาแก่เมืองรถม้าไปถึงก็เย็นแล้ว เด็กน้อย ๒ คนวิ่งเข้ามาหา เลยถูกจับถ่ายรูป แสงสีกำลังอุ่น!

ลูกใครไม่รู้น่ารักมั่ก ๆ ผมควักแบ็งค์ ๕ พันให้…บอกว่าไปแบ่งกัน  ที่จริงก็ได้แค่คนละ ๑๐ บาท…แต่เด็กดีใจ ผู้ให้ก็มีความสุข

เดินอ้อมไปด้านหน้า เก็บภาพต่อ…

ซุ้มประตูด้านทิศใต้ (6)

พ่อใหย่ไปก่อนเด้อ…

ท่าเรือบั๊ค จำปาสัก

“ท่าเรือบั๊ค” น่าจะหมายถึงท่าแพขนานยนต์ หรือเรือใหญ่ ที่สามารถบรรทุกรถยนต์ทั้งคันข้ามฟากจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้

พยายามคิดว่าเคยเห็นท่าเรือบั๊คครั้งแรกที่ไหน? ถ้าจะว่าไปแล้วน่าจะเป็นสมัยหนุ่ม ผมเคยไปหาดใหญ่ มีประสบการณ์กับท่าเรือบั๊กตอนเดินทางจากฝั่งเขาแดงไปสงขลา จำได้ว่ารู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย…

ภาพจากบล็อกปางนู (daynight.bloggang.com) – ขอขอบคุณ

ที่จำปาสัก ไม่ไกลจากวัดพะพิน มีท่าเรือบั๊คที่สามารถข้ามฟากจากฝั่งตะวันตก (W) ไปฝั่งตะวันออก (E) หรือจะหาเรือเล็กให้พาไปส่งที่ดอนแดง (DD) ก็ได้…

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ ผมปั่นจักรยานจากที่พัก “ด้วยรักจำปาสัก” ไปถึงท่าเรือบั๊คเมื่อเวลาประมาณ ๙ โมงครึ่ง ต้องไปติดต่อจ้างเรือให้พาไปส่งที่ดอนแดงก่อนครับ…

บ้านของคนขับเรือ (2) อยู่หลังวัดพะพิน…

สนนราคาค่าโดยสารทั้งรถทั้งคน (ไป-กลับ) ๑ แสน!  งานนี้อาจารย์หมูควักกระเป๋าจ่าย (ขอขอบคุณ)  ตกลงกันเรียบร้อยก็พากันจูงรถไปลงเรือ…

โน่นไง…แพขนานยนต์

เรือติดเครื่องแล้ววิ่งตรงไปยังดอนแดง ผมยกกล้องขึ้นเก็บภาพฝั่งตะวันตกไว้อีก ๑ บาน…

นี่มิใช่ครั้งแรกที่นั่งเรือข้ามโขง แต่เป็นครั้งแรกที่มีจักรยานไปด้วย!

ความทรงจำที่วัดทาด

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐  อีก ๒ วันก็จะได้กลับเมืองไทย!  ผมคงต้องตัดใจจากจำปาสัก!  ก่อนอื่นขอปั่นจักรยานเก็บเกี่ยวความสุขในเมืองที่สงบสุขและน่าอยู่อีกสักครั้ง!

กลับมาวัดทาดอีกครั้ง เช้านี้ผมได้พบปะและเสวนากับผู้คน มีฝรั่งนักท่องเที่ยวคนหนึ่งขี่จักรยานเข้ามาคุยด้วย…

คุณยาย ๒ คนกำลังช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดอยู่ข้างโบสถ์…

คนหนึ่งทีแรกก็เงียบ ๆ ไม่พูดอะไร พอผมกล่าวทักทาย “สะบายดี” แม่ใหญ่ก็เริ่มคุยจ้อ เธอพูดลาวเร็วเหมือนรถไฟเล่นเอาตาแก่เมืองรถม้าต้องเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ…

เด็ก ๆ ก็ปั่นจักรยานเข้ามาเที่ยวในวัด…

สามเณรฉันเช้าแล้วออกมาช่วยกันทำงาน คนนึงเอาธนบัตรไทยใบละ ๒๐ บาทมาถามว่าเป็นเงินลาวเท่าไหร่?  ผมตอบว่า “๕ พัน”  เห็นจั่วกำเงินหายไปพักใหญ่ก็กลับมาพร้อมกับน้ำส้ม ๔ แก้ว อืมม…ราคาเท่าเมืองไทยเลย แก้วละ ๕ บาท!

ผมต้องยอมรับว่าประทับในความเป็นมิตรของคนลาวครับ คิดว่าคล้ายกับเชียงใหม่เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว เสียดายจังที่แก่เกินไปซะแล้ว ไม่งั้นจะอพยพมาอยู่กับลิงน้อยที่จำปาสักซะเลย!

ตอนนี้ทำได้ก็แค่นำภาพเก็บตกวัดทาดมาฝากเพื่อน ๆ ดังนี้…

ทดลองใช้ห้องน้ำหน่อย เป็นวัดแรกในลาวใต้ครับ…

ลาก่อน “วัดธาตุฝุ่นสันติธรรมวราราม” 

สิมวัดทาด จำปาสัก

ภาษาลาว “ອ້າຍຈົວ” (อ้ายจั่ว) หมายถึง “สามเณร”  ผมโชคดีที่วัดทาด มีจั่วช่วยเปิดประตูด้านหลังให้เข้าไปชมภายในสิม (อุโบสถ)

ออกมาเดินเก็บภาพด้านนอก…

ทำตามหน้าที่ ผมตามหาใบสีมา หุหุ นอนเอ้เต้อยู่ตรงนี้เอง!

ส่วนที่อยู่หน้าอุโบสถยังคงตั้งตรงอยู่…

อยู่จำปาสัก ๑๐ วัน ผมมาวัดทาด ๒ ครั้ง

วัดทาด จำปาสัก

จากวัดโพนแพง (1) ผมปั่นจักรยาน ๑ กิโลเมตร ถึงวัดทาด (2) หรือสะกดชื่อเต็มเป็นภาษาไทยว่า “วัดธาตุฝุ่นสันติธรรมวราราม” 

ต้องเป็นวัดใหญ่และมีความสำคัญมาก แต่ขณะที่ไปผมก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร

ก็ได้มาศึกษาค้นคว้าทีหลังเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ “พระครูโพนสะเม็ก หรือ หลวงพ่อขี้หอม” ถึงทราบว่าวัดนี้เป็นที่เก็บอัฐิธาตุส่วนหนึ่งของท่าน

บทความ “พระครูโพนสะเม็ก หรือหลวงพ่อขี้หอม” (จันท์ อินทุพิลาล เขียน – ชาย โพธิสิตา แปลจากต้นฉบับภาษาลาว) บรรยายว่า…

ลุถึง พ.ศ ๒๒๖๓ (จ.ศ. ๑๐๘๒) ปีชวด พระครูยอดแก้วโพนสะเม็กก็อาพาธลงด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพในวันพุธ ขึ้นห้าค่ำ เดือนเจ็ด อายุได้ ๙๐ ปี  พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ พร้อมกับเสนาอำมาตย์ข้าราชการ และประชาราษฎร์ ก็แต่งตั้งการทำบุญให้ทาน มีการละเล่นสนุกสนานสมโพชศพอยู่หนึ่งเดือน จึงพากันถวายเพลิงศพของท่านเสร็จสิ้นแล้ว จึงให้สร้างอารามขึ้นในที่เผาศพนั้น และก่อเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งบรรจุอังคารของท่านไว้ในอารามนั้น เรียกวัดนั้นว่า “วัดธาตุ” มาจนทุกวันนี้

พ.ศ. ๒๕๑๓ พระเทพรัตนโมลี (แก้ว) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้จัดการหล่อรูปของพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก หรือหลวงพ่อขี้หอมไว้ที่วัดพระธาตุพนม นัยว่าหล่อตามนิมิตของผู้นั่งสมาธิที่มีกำลังจิตบอกลักษณะรูปร่างท่านให้

ภาพจากอินเทอร์เน็ต

จากมติชนออนไลน์ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๙  พร้อมภาพประกอบดังนี้

(ซ้าย) รูปหล่อพระครูโพนสะเม็ก (ขวา) บริเวณวัดที่จำปาสัก ที่เชื่อกันว่าบรรจุอัฐิของ “หลวงพ่อขี้หอม” เพื่อน ๆ ดูภาพขาวดำสมัยก่อนแล้วมาดูภาพที่ผมบันทึกมาฝากนะครับ…

ตาแก่เมืองรถม้ารู้สึกดีใจจริง ๆ ที่ได้มาถึงที่นี่!